คราบหินปูนหรือหินน้ำลาย เกิดจากแผ่นคราบจุลินทรีย์ในปัจจุบันมีชื่อใหม่อีกว่า Biofilm โดยจะเกิดขึ้นไม่นานนักภายหลังการแปรงฟันหรือการทำความสะอาดในช่องปาก แรกเริ่มจะมีเมือกใสน้ำลายมาเกาะที่พื้นผิวฟัน จากนั้นจุลินทรีย์ในช่องปากจะตามมาเกาะทับถมกันจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์ที่อยู่ในแผ่นคราบนี้ก็จะใช้น้ำตาลที่เรารับประทานไป มาสร้างกรดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุและสารพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบที่เหงือก สังเกตได้จากเหงือกมีสีแดง บวมและเลือดออกง่าย
เมื่อเราปล่อยแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมรอบ ๆฟันเป็นเวลานาน ก็จะถูกแร่ธาตุในน้ำลายที่อยู่ในช่องปากจับตัวตกตะกอนแข็งตัวเป็นหินน้ำลายที่เกาะแน่นกับผิวฟัน ซึ่งเราอาจพบทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้เหงือก โดยการเกิดหินปูนนี้ไม่จำเป็นว่าจะเกิดเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ก็ยังสามารถพบในเด็กได้เช่นกัน
การที่จะกำจัดคราบหินปูนนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยการแปรงฟันตามปกติ ต้องมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการขูดหินปูน โดยหินปูนสามารถขึ้นได้ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้
คำแนะนำหลัง “การขูดหินปูน”
- เมื่อขูดหินปูนเสร็จ อาจจะมีอาการเลือดออกตามขอบเหงือก โดยเฉพาะผู้ที่มีหินปูนสะสมปริมาณมาก ๆ ซึ่งเลือดจะหยุดไหลไปเองใน 1-2 ชั่วโมง แต่คนไข้ไม่ควรบ้วนน้ำบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งทำให้เลือดหยุดไหลยากขึ้น
- อาการเสียวฟันหรือระบมที่ขอบเหงือก เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 1-2 สัปดาห์แรก หากเสียวฟันมาก ๆ ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน
- การทำความสะอาดช่องปากหลังการขูดหินปูน คนไข้สามารถทำได้ปกติ ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรเลือกใช้แปรงที่ฟันที่มีขนอ่อนนุ่น ปลายเรียว ชอกชอน เพื่อให้เข้าถึงฟันซี่ในสุด
- ในรายที่มีหินปูนจำนวนมาก ทันตแพทย์อาจจะขูดหินปูนให้หมดภายในครั้งเดียวไม่ได้ ต้องนัดไปรับการรักษาเพิ่มเติม คนไข้ควรต้องไปตามนัด
- การสะสมของหินปูนยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกแม้ว่าจะมีการขูดหินปูนไปแล้ว ดังนั้นคนไข้ควรเข้ารับการขูดหินปูน อย่างน้อยทุก 6 เดือน รวมทั้งยังได้ตรวจสุขภาพช่องปากด้านอื่น ๆ ด้วย